ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จะพาไปหาคำตอบกับ ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ในบางคำอธิบายเกี่ยวกับโลกคู่ขนานนั้นต้องใช้ทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่ชื่อว่า “ทฤษฎีสตริง” (String Theory) อธิบาย และในเมืองไทยก็มีเพียงไม่กี่คนที่ศึกษาทฤษฎีดังกล่าวและ ดร.อรรถกฤต ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งได้เผยว่าการเดินทางข้ามมิติจากโลกที่มีมิติมากกว่านั้นไม่ใช่ความหมายในทางฟิสิกส์
“มิติในทางฟิสิกส์ไม่ได้หมายถึงมิติลี้ลับ มิติมหัศจรรย์หรือว่าอีกโลกหนึ่ง แต่หมายถึง Dimension ในภาษาอังกฤษซึ่งมีความหมายทางคณิตศาสตร์ อย่างเช่น จุด (.) มีมิติเป็นศูนย์หรือไม่มิติ เส้นตรงก็มี 1 มิติ ส่วนพื้นที่เป็น 2 มิติ และปริมาตร 3 มิติก็เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยมีกว้าง ยาว สูง ในทางคณิตศาสตร์คุณสามารถมีมิติเท่าไหร่ก็ได้ แต่อวกาศหรือที่ว่างที่เราเห็นนั้นเป็น 3 มิติ” ดร.อรรถกฤตอธิบายพร้อมเพิ่มเติมว่าในการเคลื่อนที่ของวัตถุนั้นนอกจากขึ้นกับพื้นที่แล้วยังขึ้นอยู่กับเวลาด้วยซึ่งในทางคณิตศาสตร์นับเป็นอีกมิติหนึ่งได้กลายเป็น 4 มิติที่เรียกว่า “สเปซ-ไทม์” (space time) หรือ กาล-อวกาศ
ดร.อรรถกฤตกล่าวว่ามีหลายทฤษฎีที่แสดงความเป็นไปได้ว่าจะมีมากกว่า 4 มิติ โดยใน ค.ศ.1921 ธีโอดอร์ คาลูซา (Theodor Kaluza) สันนิษฐานว่ากาล-อวกาศมี 5 มิติ ซึ่งมิติที่เกินมานั้นเรียกว่ามิติพิเศษ (extra-dimension) ซึ่งคาลูซาต้องตอบให้ได้ว่ามิติดังกล่าวหายไปไหน และเขาก็มีกลวิธีในการอธิบายว่ามิติดังกล่าวขดตัวอยู่ (Compactify) กลายเป็นมิติที่เล็กมากจนมองไม่เห็น แต่การนำเสนอของคาลูซาไม่รับความสนใจนัก จนกระทั่งเริ่มมีการศึกษาแนวคิดดังกล่าวมากขึ้นในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ดร.อรรถกฤตเปรียบเทียบการขดดังกล่าวเหมือนการขดกระดาษเป็นทรงกระบอก หากรัศมีของการขดสั้นกว่าความยาวคลื่นของแสงจะไม่สามารถสะท้อนเป็นภาพออกมาให้มองเห็นได้ ซึ่งนักฟิสิกส์ก็พยายามจะพิสูจน์ว่ามิติดังกล่าวมีจริงหรือไม่ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการทดลองยิงอนุภาคด้วยเครื่องเร่งอนุภาค “แอลเอชซี” (LHC: Large-Hadron Collinder) ของห้องปฏิบัติการเซิร์น (CERN) อันเป็นองค์กรการวิจัยด้านนิวเคลียร์ ตั้งอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยตามหลักกลศาสตร์ควอนตัมต้องใช้พลังงานจำนวนมหาศาลเพื่อทำให้อนุภาคที่สามารถเป็นได้ทั้งคลื่นและอนุภาคนั้นมีความยาวคลื่นสั้นลง จนเล็กพอที่จะเห็นมิติที่ขดซ่อนอยู่ได้
สำหรับการทำลายมิติหรือการทะลุมิติในทางวิทยาศาสตร์นั้นดูจะต่างจากความเข้าใจของคนส่วนใหญ่โดยสิ้นเชิง ซึ่ง ดร.อรรถกฤตอธิบายว่าในทางฟิสิกส์แล้วการทำลายมิติน่าจะหมายถึงการเร่งให้พลังงานสูงพอที่จะขยายมิติพิเศษที่นอกเหนือไปจากมิติทั้ง 4 ซึ่งขดอยู่ออกมาให้เห็นได้ เปรียบเหมือนกับเส้นลวดเล็กๆ ที่ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นวัตถุ 1 มิติ แต่ถ้าเราเอาแว่นขยายไปสองแล้วเห็นพื้นผิวของเส้นลวด ซึ่งกลายเป็นว่าจาก 1 มิติก็เห็นเป็น 2 มิติ
ส่วนเรื่องโลกคู่ขนานนั้น ดร.อรรถกฤตกล่าวว่าส่วนหนึ่งมาจากทฤษฎีสตริงซึ่งใช้อธิบายการกำเนิดจักรวาล แต่โลกคู่ขนานนั้นแบ่งได้หลายอย่าง อย่างแรกคือโลกคู่ขนานแบบควอนตัม (quantum parallel universe) ซึ่งพัฒนามาเมื่อประมาณ ค.ศ.1957 โดยนักฟิสิกส์ชื่อ ดร.ฮิวจ์ เอเวอร์เรต (Dr.Hugh Everett) เพื่อแก้ปัญหาทางเทคนิคในทฤษฎีควอนตัมด้วยการสมมติว่ามีโลกคู่ขนานอยู่
เผยเรื่องจริง “โลกคู่ขนาน” และ “มิติ” ที่ขดซ่อนตัว
เรื่องของกาล-อวกาศ บางครั้งก็เกินกว่าจินตนาการจะรับรู้
“การวัดสำหรับควอนตัมเป็นเรื่องของความน่าจะเป็น เช่น การทอดลูกเต๋าซึ่งเปรียบเหมือนการวัด คุณอาจจะทอดได้หนึ่งหรือคุณอาจจะทอดลูกเต๋าได้สอง พอคุณทอดลูกเต๋าได้แล้ว รู้ว่าได้หนึ่ง อนาคตคุณก็จะเป็นไปตามลูกเต๋าหน้าที่คุณทอดได้หนึ่ง แต่ถ้าคุณทอดได้หก อนาคตคุณก็จะเป็นไปตามที่ทอดได้หก ระหว่างที่คุณทอดและลูกเต๋าอยู่ในถ้วย คุณครอบอยู่ คุณไม่มีทางรู้ว่าลูกเต๋าเป็นอะไร ทุกครั้งที่คุณเปิดคือคุณเลือกช้อยส์ (ตัวเลือก) ซึ่งตามทฤษฎีในกรณีนี้จะมีโลกคู่ขนานอยู่ 6 โลก ถ้าคุณเลือกได้เลขหนึ่งตัวคุณก็อยู่ในโลกหนึ่ง โดยที่เราไม่สามารถติดต่อกับโลกคู่ขนานอื่นๆ ได้เลย” ดร.อรรถกฤตยกตัวอย่างซึ่งโลกอื่นๆ ที่เราไม่เลือกนั้นก็คือโลกคู่ขนานที่เราไม่ทราบว่าคืออะไร
โลกคู่ขนานอีกประเภทที่ ดร.อรรถกฤตอธิบายคือโลกคู่ขนานแบบ String theory multi-universes แนวคิดเรื่องเอกภพคู่ขนานในกลุ่มนี้ เป็นแนวคิดที่ได้มาจากทฤษฎีเส้นเชือก (String Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะอธิบายธรรมชาติของแรงโน้มถ่วงในระดับพลังงานสูงๆ ซึ่งเพียงทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ที่ใช้อธิบายแรงดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญๆ ที่พบในการศึกษาจักรวาลวิทยาได้ เช่น ปัญหาเช่น ปัญหาสสารมืด (Dark matter problem) และปัญหาพลังมืด (Dark Energy problem) เป็นต้น ทั้งนี้ในวิชาฟิสิกส์แบ่งแรงออกเป็น 4 ชนิดคือแรงโน้มถ่วง แรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงนิวเคลียร์แบบอ่อน และแรงนิวเคลียร์แบบเข้ม แต่ในบรรดาแรงทั้งหมดเราเข้าใจแรงโน้มถ่วงน้อยที่สุด
“อย่างไรก็ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพก็มีข้อจำกัด เพราะไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมของแรงโน้มถ่วง ในสถานะการที่มีพลังงานสูงๆได้ เช่น ถ้าต้องการอธิบายการกำเนิดของเอกภพเป็นต้น นอกจากนี้ในปัจจุบันการศึกษาจักรวาลโดยอาศัยทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปไม่สามารถตอบปัญหาสำคัญๆ เช่น ปัญหาสสารมืดและปัญหาพลังมืด ได้ นักฟิสิกส์จึงต้องการทฤษฎีอื่นเพื่อที่จะช่วยเสริมในจุดที่ทฤษฎีควอนตัมและทฤษฎีสัมพัทธภาพไม่สามารถอธิบายได้ ซึ่งทฤษฎีสตริง ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งของทฤษฎีดังกล่าว”
“ในทฤษฎีสตริง อนุภาคถูกอธิบายว่ามีลักษณะเป็นเส้นเชือกหนึ่งมิติ โดยการสั่นของเส้นเชือกนี้ทำให้เกิดเป็นตัวโน้ตต่างๆ ตัวโน้ตหนึ่งตัวสามารถแทนอนุภาคได้หนึ่งตัว ตัวโน้ตที่ต่างคีย์กันก็จะให้อนุภาคที่ต่างชนิดกัน ในการที่จะให้ทฤษฎีสตริงมีคุณสมบัติทางคณิตศาสตร์ที่เหมาะสม นักฟิสิกส์พบว่าจำนวนมิติของเอกภพจะต้องมีถึง 10 มิติคือ เวลาหนึ่งมิติและอวกาศอีก 9 มิติ ยิ่งไปกว่านั้นในในทฤษฎีเอ็ม (M-theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่พัฒนาต่อมาจากทฤษฎีเส้นเชือก กาล-อวกาศอาจจะมีได้ถึง 11 มิติ คือเวลา 1 มิติและอวกาศอีก 10 มิติ แต่ในเอกภพของเรานั้น เราสังเกตจำนวนมิติได้เพียงแค่ 4 มิติ ทฤษฎีสตริงจึงอธิบายว่ามิติที่เกินมาหรือมิติพิเศษ (Extra dimension) นั้นขดตัวอยู่โดยที่ขนาดของมันเล็กมากจนเราไม่สามารถสังเกตได้”
ส่วนแนวคิดเรื่องสุดท้ายเกี่ยวกับโลกคู่ขนานคือ Inflation multi-universes ซึ่งเป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากการศึกษาจักรวาลวิทยา (cosmology) หรือการศึกษาเกี่ยวกับการกำเนิดและวิวัฒนาการของเอกภพ ดร.อรรถกฤตได้อธิบายว่าจุดกำเนิดของเอกภพเริ่มมาจาก “บิ๊กแบง” แต่เนื่องจากความรู้ที่เรามีอยู่จำกัดในปัจจุบันทำให้เราไม่สามารถเข้าใจการกำเนิดของเอกภพได้ดีนัก อังเดร ลินเด (Andre Linde) นักฟิสิกส์จึงได้เสนอทฤษฎีโลกคู่ขนานแบบ “บับเบิล” (bubble universe theory)
ดร.อรรถกฤตอธิบายถึงแนวคิดของทฤษฎีดังกล่าวว่าภายหลังเหตุการณ์บิ๊กแบง เอกภพมีพลังงานและความหนาแน่นสูงมาก และกาล-อวกาศมีความผันผวนสูงมากคือมีความไม่ต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะมีการสั่นอย่างรุนแรง คล้ายกับน้ำเดือดแล้วมีฟองผุดขึ้นมา หากการสั่นดังกล่าวรุนแรงมากอาจทำให้กาล-อวกาศบางส่วนหลุดออกมาได้ เรียกว่า “ควอนตัมโฟม” (quantum foam) หรือ “ควอนตัมบับเบิล” (quantum bubble)
“ได้ข้อสรุปว่าอวกาศแบบนี้เกิดขึ้นได้ ที่น่าสนใจคือว่าบับเบิลพวกนี้มีโอกาสเกิดได้หลายฟอง เหมือนน้ำเดือดก็มีฟองอากาศได้หลายฟอง แต่ละฟองก็เจริญเติบโตไปเป็นจักรวาลที่ต่างกัน เป็นอีกจักรวาล อีกเอกภพที่ต่างกัน ทุกวันนี้จักรวาลของเราก็ขยายตัวใหญ่ขึ้นๆ ถ้าตามทฤษฎีนี้ก็อาจจะมีจักรวาลอื่น แต่ว่าจักรวาลอื่นอาจจะมีค่าคงที่ทางฟิสิกส์ซึ่งไม่เหมือนกับเราเลย เช่น ประจุอิเล็กตรอนอาจจะไม่เท่านี้ ค่าคงที่แรงโน้มถ่วงของนิวตันอาจจะเปลี่ยนไป หรือว่าจำนวนมิติของเอกภพอาจจะไม่เท่ากับ 3+1 แต่เป็น 1+1 อะไรอย่างนี้ มันมีโอกาสจะเกิดได้ต่างๆ กัน เราเพียงแต่โชคดีที่มาอยู่ในนี้ที่เป็นสเปซ(อวกาศหรือที่ว่าง) 3 มิติ +1 ซึ่งเป็นมิติของเวลา”
“การที่เราเป็นสิ่งมีชีวิตอยู่อย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ได้ เพราะเราโชคดีที่เกิดในเอกภพที่มีค่าคงที่ทางฟิสิกส์อย่างที่มันควรเป็น ปฏิกิริยาเคมีเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะอันตรกิริยาทางไฟฟ้าของอิเล็กตรอน ถ้าประจุไฟฟ้าเกิดมีค่าที่ต่างไปจากนี้ พันธะเคมีอาจจะเกิดไม่ได้เลย เมื่อพันธะเคมีเกิดไม่ได้ สารอินทรีย์ก็ไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ในธรรมชาติ และก็จะไม่มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น หรือถ้ามีก็อาจจะมีสิ่งมีชีวิตในรูปแบบอื่น แต่ว่าไม่เหมือนเราแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าคุณข้ามจักรวาล "บับเบิล" ของเราไปจักรวาลบับเบิลของคนอื่นก็จะมีปัญหาล่ะ เพราะกฎทางฟิสิกส์อาจจะต่างกัน คุณอาจจะตายไปเลยก็ได้ ซึ่งก็ดูไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่ที่จะข้ามไปยังโลกอื่น เพราะเราอยู่ในที่ซึ่งเหมาะกับเราแล้ว”
อย่างไรก็ดี ดร.อรรถกฤตกล่าวว่าแนวคิดเกี่ยวกับโลกคู่ขนานและมิติที่ขดซ่อนตัวนั้นยังเป็นเพียงทฤษฎีซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ ซึ่งนักฟิสิกส์ไม่ได้สนใจว่าสิ่งเหล่านั้นจะมีจริงหรือไม่แต่สนใจเพียงการอธิบายธรรมชาติเท่านั้น
“จักรวาลคู่ขนาน” หรือ “โลกคู่ขนาน ” อยู่ในความสนใจใคร่รู้ของคนทั้งโลกมาเนิ่นนาน เรื่องนี้มีจริงหรือไม่? มีใครอีกคนที่เหมือนคุณทุกประการ ใช้ชีวิตแบบเดียวกับคุณ กินนอนนั่งคิดเหมือนกันกับคุณ เรื่องนี้มันเป็นไปได้หรือ?
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นิตยสาร New Scientist ได้รายงานว่า นักวิจัยของนาซ่าพบปรากฏการณ์ที่อาจชี้ว่ามีโลกคู่ขนาน ซึ่งเวลาเดินย้อนกลับหลัง และต่อมาไม่กี่วันก็พบว่า ข่าวดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริง นาซ่าไม่ได้พบจักวาลคู่ขนาน และนิตยสาร New Scientist นำเสนอข่าวโดยการอ้างอิงจากงานวิจัยเท่านั้น
กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า “จักรวาลคู่ขนาน” หรือ “โลกคู่ขนาน” ไม่ใช่เรื่องจริง โดยล่าสุด ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.บุรินทร์ กำจัดภัยนักฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยาแห่งวิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯมหาวิทยาลัยนเรศวร ในเรื่อง “จักรวาลคู่ขนาน” หรือ “โลกคู่ขนาน” เรื่องนี้มีจริงหรือไม่ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ไทย ติดตามได้ที่นี่!
ก่อนจะเข้าใจความเป็นไปแห่ง "จักรวาลคู่ขนาน"...
รศ.ดร.บุรินทร์ ได้อธิบายถึงเรื่องดังกล่าวว่า ที่ผ่านมา มีหลายทฤษฎีที่มีแนวคิดว่า มีภพอื่น ซึ่งเราต้องนิยามก่อนว่า “เอกภพ” คืออะไร โดยเอกภพคือระบบหนึ่งที่เป็นทุกแห่งหนที่มีอวกาศและเวลา มีความกว้าง ยาว สูงและเวลา รวมกันเป็นระบบ ซึ่ง “ระบบ” ก็คือสิ่งใดๆก็ตามที่มีคุณสมบัติ และทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวของเราจะมี “คุณสมบัติ” ดังนั้น เอกภพของเราจึงมีคุณสมบัติคือตัวเรขาคณิตของมันเอง และการกล่าวถึงเอกภพคู่ขนานหรือเอกภพอื่นว่ามีอยู่จริงหรือไม่ จึงเป็นการถามว่ามีอาณาบริเวณอื่นๆ อีกหรือไม่ที่ซึ่งอวกาศและเวลาแยกขาดจากเอกภพของเราอยู่
ทั้งนี้ ในทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม มีความเชื่อกันว่า มีความสมมาตรในเลขควอนตัม ซึ่งในกลศาสตร์ควอนตัมแบบสัมพันธภาพจะมีตัวแปรอยู่ 3 สิ่ง คือ ประจุ แพริตี้ (Parity) และเวลา
เมื่อเปลี่ยนตัวแปรเหล่านี้ไปเมื่อใด ก็ยังสามารถรักษาสมการหลักของกลศาสตร์ควอนตัมไว้เช่นเดิมได้ ซึ่งเราจะถือได้ว่า กลศาสตร์ควอนตัมมีสมมาตรภายใต้การเปลี่ยนตัวแปรเหล่านี้
ส่วนความสมมาตรก็คือ เมื่อเราเปลี่ยนตัวแปรใดตัวแปรหนึ่ง แต่สิ่งนั้นๆ ยังคงเดิมอยู่ เสมือนเรามองตัวเองในกระจก หรือย้ายตัวเองไปยังตำแหน่งด้านตรงข้าม แต่ยังเห็นรูปตัวเองเหมือนเดิม สมการหลักในกลศาสตร์ควอนตัมก็เช่นกันที่จะคงรูปเดิมได้เมื่อเปลี่ยนตัวแปรไป
ขณะเดียวกัน กลศาสตร์ควอนตัมยังทำนายการมีอยู่ของปฏิสสาร หรือที่ซึ่งตัวแปรทั้งสามมีค่าตรงข้ามและเปลี่ยนแปลงไปในทางตรงข้าม
ฉันอีกคน ณ สถานที่หนึ่งอันแสนไกล...
“จากความเชื่อที่ว่า ทุกอย่างต้องมีปฏิสสารของมัน และเขาก็มองว่า เอกภพมีโอกาสที่จะมีปฏิเอกภพ ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการกำเนิดจักรวาลได้ ดังนั้น ก็อาจมีคุณอีกคนหนึ่ง รูปร่างหน้าตาเหมือนคุณทุกอย่าง มีเลือดมีเนื้อเหมือนกันทุกประการ แต่มีประจุและแพริตี้ตรงข้ามกัน เวลาเดินตรงข้ามกัน ส่วนเหตุที่สิ่งเหล่านี้ต้องตรงข้ามกันนั้น เพราะว่าถ้าปฏิสสารที่เหมือนกันมาเจอกันมันจะทำลายล้างกันเอง”
เมื่อทีมข่าวถาม รศ.ดร.บุรินทร์ ว่า หากมีนาย ก. อีกคนในโลกคู่ขนาน นาย ก. จะใช้ชีวิตเหมือนกันกับ นายก. บนโลกใบนี้หรือไม่? รศ.ดร.บุรินทร์ ให้คำตอบว่า “ทุกอย่างจะเหมือนกระจกเลย ถ้านาย ก. บนโลกดื่มกาแฟอยู่ นาย ก. บนโลกคู่ขนาน ที่หน้าตาเหมือนกันก็จะดื่มกาแฟอยู่”
“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องนี้ก็เป็นเพียงทฤษฎีหนึ่งเท่านั้น ซึ่งทฤษฎีที่เกี่ยวข้องยังไม่มีข้อสรุปยืนยันได้ และคงเป็นเรื่องยากที่จะศึกษาจนเสร็จสิ้น เพราะจักรวาลกว้างใหญ่เป็นอนันต์ และความรู้ก็มีเป็นอนันต์”
“ณ เวลานี้ ทฤษฎีโลกคู่ขนาน ยังเป็นเพียงแค่ไอเดียของทฤษฎีควอนตัมเท่านั้น ซึ่งมันเป็นไอเดียที่เกิดมานานมากแล้ว และผมเชื่อว่าทฤษฎีนี้มันยังต้องถูกปรับปรุงอีกมาก”
“ผมไม่เชื่อในกระแสข่าวที่ว่า นาซ่าพบหลักฐานการมีอยู่ของเอกภพคู่ขนานจากการทดลองบอลลูนที่ขั้วโลกใต้เพราะถ้ามีอยู่จริงการตรวจจับควรเกิดขึ้นที่ระดับพลังงานหรืออุณหภูมิที่สูงมากๆ"
"แม้จะจริงอยู่ที่ว่าผลการตรวจจับอนุภาคนิวทริโนที่บอลลูนที่ขั้วโลกใต้จะยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน แต่การทดลองอื่นๆ ภาคพื้นดินที่ขั้วโลกใต้ก็ไม่สามารถตรวจจับอนุภาคนิวทริโนนี้ได้ จึงแย้งกัน และคำอธิบายที่ว่าอนุภาคนิวทริโนที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ตรวจจับได้นี้ มีเลขควอนตัมบางตัวตรงข้ามกับที่เรารู้จักมาจากเอกภพคู่ขนาน ก็เป็นเพียงคำอธิบายหนึ่งในหลายๆ คำอธิบายที่เป็นไปได้เท่านั้น” รศ.ดร.บุรินทร์ ทิ้งท้าย.
ขอบคุณที่มา :
"โลกคู่ขนานมีจริงหรือไม่ - parallel world" https://sites.google.com/site/122304856a/1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น