วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

แบบแผน 31วิธีข่มความกลัวก่อนการทำธุรกิจออนไลน์


 แบบแผน 31 วิธีข่ม 'ความกลัว' ก่อนลุยธุรกิจ       อะไรที่ทำให้คุณ "ถอย" ออกมาจากการเริ่มต้นธุรกิจ เกร็ดต่อไปนี้จะช่วยให้คุณเผชิญหน้ากับความกลัวและ กลายเป็น "นายตัวเอง" ได้ในที่สุด
หลายครั้งที่การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ เรามักจะคิดถึงกันแต่เรื่องขั้นตอนและวิธีการ แต่แท้จริงแล้ว...ในการเดินทางเพื่อเริ่มต้นนั้นมีเรื่องราวสำคัญ พอๆ กับการเขียนแผนธุรกิจหรือการระดมเงินทุนเลยทีเดียว ด้วยแผนธุรกิจ และเงินออมที่มีอยู่ในมือ คุณยังไม่จำเป็นต้องลาออกจากงาน หลังจากที่ออกจากงานและกลับเข้ามาทำใหม่ถึงสองครั้ง ก็พบว่ามีวิธีการที่จะช่วย สร้างขวัญและกำลังใจกลับคืนมาและเอาชนะความกลัวได้ และต่อไปนี้คือ 31 วิธีการที่ใช้ได้ผลกับคุณด้วยเช่นกัน

1. ยอมรับฟังเสียงเรียกร้องในหัวใจของคุณ คุณยังไม่จำเป็นต้องรู้ในตอนนี้ก็ได้ว่าคุณจะทำอะไรหรือจะทำอย่างไร แค่เพียงตระหนักถึงเสียงภายในของคุณที่ร่ำร้องจะออกมาสู่โลกของ "ผู้ประกอบการ" เขียนว่า "ใช่! ฉันยอมรับว่าฉันอยากได้...." ลงไปในกระดาษ และแปะไว้ที่ผนังเพื่อเตือนตัวเองว่าคุณกำลังก้าวไปข้างหน้า เมื่อคุณทำอย่างนี้ คุณก็จะเริ่มเห็นความเป็นไปได้ของการเป็นเจ้านายตัวเองแล้ว

2. เริ่มจดบันทึก เขียนไอเดีย เป้าหมาย ความรู้สึก หรืออะไรก็ตามที่ผ่านเข้ามาในชีวิตทุกๆ วัน การบันทึกเรื่องราวจะช่วยทำให้คุณได้รู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น และจะมองเห็นพัฒนาการเมื่อคุณย้อนกลับมาดู

3. เขียน "เป้าหมาย" จากการศึกษาพบว่าคนที่เขียนเป้าหมายนั้นจะประสบความสำเร็จตามที่เขียนไว้มากกว่าคนที่ไม่ได้เขียนถึง 5 เท่า เมื่อไหร่ที่คุณต้องการทำธุรกิจ? ออกจากงาน? คุณต้องเก็บเงินเป็นจำนวนเท่าไหร่? ตั้งเป้าหมายและดำเนินการไปให้ถึงจุดนั้น

4. คิดออกมาเป็นภาพ ลองใช้จินตนาการคิดถึงความต้องการในการเป็นผู้ประกอบการของคุณและเขียนลงไป เพราะคนที่สร้างสรรค์ จินตนาการขึ้นมานั้น มีโอกาสที่จะได้ "สัมผัส" ประสบการณ์นั้นๆ มากกว่า ลองถามตัวเองดูว่า "ฉันอยากทำงานในออฟฟิศแบบไหน?" และ "ฉันอยากให้บริการลูกค้าแบบไหน?"

5. สร้างและอ่านประโยคแห่ง "การยืนยัน" การยืนยันข้อความว่า "ฉันเป็น..." ในสิ่งที่คุณต้องการให้เกิดขึ้น เขียนด้วยประโยค "กาลปัจจุบัน" ประหนึ่งว่ามันเกิดขึ้นแล้ว "ฉันเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ" เป็นตัวอย่างที่ดีในการเริ่มต้น สร้างประโยคแห่งการยืนยันทำนองนี้ขึ้นมาสัก 10-20 ประโยคลงบนแผ่นกระดาษ และนำไปติดในที่ๆ สามารถมองเห็นและอ่านได้ง่าย ข้อความเหล่านี้จะช่วยให้คุณเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง และสามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้


 
6. ประเมิน "ความเชื่อ" ของคุณ นำกระดาษมา 1 แผ่น เขียนความเชื่อในตนเอง เงิน และอนาคตของคุณลงไปทางด้านซ้าย และลองดูว่าความเชื่อเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นว่าคุณต้องการเชื่ออะไร หรือไม่ก็เขียนความเชื่อใหม่ๆ ของคุณลงทางขวา นำไปรวมกับประโยคแห่งการยืนยัน เคยมีลูกค้าคนหนึ่งที่ค้นพบว่าความเชื่อเกี่ยวกับเงินของเขานั้นจริงๆ แล้วเป็นความเชื่อของพ่อแม่ ดังนั้นเขาจึงสร้างความเชื่อใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของเขา

7. ทำในสิ่งที่รัก นี่จะช่วยให้คุณค้นพบและให้ความกระจ่างได้ว่า คุณจะทำกิจการใด หากคุณไม่รู้ว่าตนเองรักที่จะทำอะไร ก็ลองคิดกลับมาถึง สิ่งที่คุณชอบทำในสมัยเด็กๆ ดูก็ได้

8. หัดทำสิ่งที่แตกต่างจากทุกวัน ลองเปลี่ยนตารางเวลาของคุณดูบ้าง ลูกค้าคนหนึ่งเคยคิดว่านี่เป็นวิธีง่ายๆ แต่ปรากฏว่ามันใช้เวลาถึง 3 วันกว่าที่เธอจะลุกขึ้นมาบนเตียงอีกด้านหนึ่งได้ การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยปลดปล่อยความกลัว และเตรียมพร้อม สำหรับการเริ่มต้นทำธุรกิจได้

9. ทำ "เหมือนกับว่า" เริ่มต้นแสดงท่าทีเหมือนกับว่าคุณเป็นนายตัวเอง ลองรู้สึกถึงการที่คุณต้องจัดตารางเวลาเอง และหารายได้ให้ตัวเองดูว่าเป็นอย่างไร เมื่อคุณได้ลองเริ่มทำแล้วคุณก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น

10. หัดกลัวตัวเองดูบ้าง คุณกลัวที่จะต้องทำอะไร พูดอะไรบางอย่าง หรือออกไปไหนสักแห่งหรือไม่? จงกลัวต่อไปเถอะ!! การกลัวแต่ยังต้องทำต่อไปนั้น จะเป็นการสร้างกำลังใจและความเชื่อมั่นให้ตนเอง และยังเป็นการท้าทายใน การเอาชนะความกลัวด้วยตัวเองได้อีกด้วย

11. ใช้เวลาอยู่กับ "ธรรมชาติ" ทำสวน หรือเดินเล่นตามชายหาด หรือเดินป่า สภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติจะช่วยสร้าง ความสงบภายในจิตใจ และสามารถช่วยประคับประคองจิตใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง

12. ยอมรับทุกความรู้สึกของคุณ คุณสามารถคาดหวังความรู้สึกทุกชนิด เมื่อคุณเริ่มต้นทำธุรกิจหรือแม้เพียงแต่คิดที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจ ความรู้สึกเปราะบาง ความไม่แน่นอน ความสงสัย ความกลัว ความไม่มั่นคงนั้นเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็รูสึกได้ ลองสร้างบทสนทนาเชิงบวก กับตัวเอง และคุยถึงความรู้สึกเหล่านี้กับเพื่อนที่สนิท และเตือนตัวเองอยู่เสมอๆ ว่าคุณไม่เป็นอะไร


 
13. ทำเรื่องที่ยังไม่เสร็จให้เสร็จ ลิสต์รายการที่รบกวนคุณและคุณจำเป็นต้องทำให้สำเร็จ ปรับปรุงหรือสรุปขั้นสุดท้าย หาช่องว่างสำหรับธุรกิจใหม่ของคุณโดยการทำสิ่งที่อยู่ในรายการของคุณให้เสร็จไปทีละรายการ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมตู้เย็น ข่มความโกรธ หรือทำสวนก็ตาม

14. หาความรู้ใส่ตัว "ความรู้คือพลัง" เข้าเรียนหรือร่วมงานสัมมนาที่เกี่ยวกับการเริ่มต้น การทำตลาด และการดำเนินธุรกิจ ลูกค้ารายหนึ่งที่เริ่มต้นทำธุรกิจได้เข้าร่วมในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ซึ่งผลที่ได้ก็คือธุรกิจของเขาได้ลงในหนังสือพิมพ์ด้วย

15. ยอมรับและเชื่อในคำชม เมื่อมีคนชม ก็ขอให้คุณยอมรับและเชื่อในคำชมนั้นๆ เพราะมันเป็นการสร้างความมั่นใจให้คุณ

16. ยอมรับใน "พรสวรรค์" ของคุณ จงตระหนักและยอมรับในพรสวรรค์และความสามารถพิเศษของคุณ คุณชอบทำอะไรบ้างแม้ว่าคุณจะไม่ได้อะไรจากสิ่งนั้นเลยก็ตาม

17. หยุดโทษตัวเอง หากคุณได้ยินเสียงตัวเองกำลังกล่าวโทษ ให้จดบันทึกไว้และพึงระวังเหตุการณ์นี้ เช่นหากคุณคิดว่า "ฉันดูไม่ใช่พวกผู้ประกอบการ" ก็ขอให้คุณเปลี่ยนมันเป็น "ฉันมีความสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ที่ฉันตั้งใจทำ"

18. ลบคำว่า "ฉันทำไม่ได้" พึงระวังในขณะที่คุณพูดว่า "ทำไม่ได้" และเปลี่ยนมันเป็นคำถามเปิดว่า "ฉันจะทำได้อย่างไร?" อย่างเช่นหากคุณกำลังรู้สึกว่า "ฉันไม่สามารถขอกู้เงินได้ เพราะเครดิตของฉันไม่ดี" ให้เป็น "ฉันจะกู้เงินได้อย่างไร?" และไปพบกับพนักงานติดตามหนี้สิน เพื่อขอเจรจาปรับเครดิตของคุณ จริงๆ แล้วผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินเก็บของตนเองนั้น มักจะได้รับวงเงินกู้ในที่สุด

19. ยอมรับความยุ่งยาก ความยุ่งยากสับสนเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มธุรกิจ ให้คุณลองบันทึกไว้และนำไปพูดคุยกับเพื่อน และรู้ไว้ว่ามันจะผ่านไปได้ในที่สุด เมื่อคุณยอมรับมันได้

20. รู้ไว้ว่าไม่มีจังหวะเวลาที่ถูกต้อง ผู้ประกอบการอาจเริ่มต้นธุรกิจด้วยหนี้สิน เงินจำนวนน้อยนิด ด้วยเงินมหาศาล ด้วยประสบการณ์น้อยนิด หรือด้วยสถานการณ์ใดๆ ก็ได้

21. เริ่มจากเล็กๆ คุณไม่ได้เริ่มธุรกิจอย่างอลังการ แต่ให้คำนึงถึงความจริงและถามตัวเองว่า "ฉันต้องการอะไรเพื่อเริ่มธุรกิจบ้าง" และเริ่มต้นจากเล็กๆ (เพราะบางทีคุณอาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาทำธุรกิจเลยก็ได้)

22. บอกว่า "ไม่" เมื่อคุณคิดว่าไม่ และบอก "ใช่" เมื่อคุณคิดว่าใช่ ครั้งต่อไปเมื่อคุณถูกถาม การตอบรับหรือปฏิเสธ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ หรือถ้าหากคุณยังไม่ได้ตัดสินใจก็ขอให้บอกไปว่า "แล้วฉันจะติดต่อคุณกลับไป"

23. หลีกเลี่ยงการประเมินตัวเอง หากคุณกำลังคิดว่า "ความคิดนี้โง่จริง" ให้ระลึกไว้ว่าคุณเป็นคนเลือกที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้คุณยอมรับในตนเอง และสร้างไอเดียใหม่ๆ สำหรับธุรกิจได้มากขึ้น

24. ออกห่างจาก "ความรู้สึกแย่ๆ" ครั้งต่อไปที่คุณรู้สึกแย่ ให้จดสถานการณ์ ความคิดหรือความรู้สึกที่ทำให้คุณรู้สึกเช่นนั้นลงไปทุกครั้ง จนกว่าจะดีขึ้น และดูว่าคุณต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะออกห่างจากความรู้สึกนี้ เช่น หากคุณรู้สึกว่าการจ่ายบิลเป็นเรื่องแย่ๆ และทำให้จ่ายล่าช้าอยู่เสมอ ก็ให้หันมาจ่ายหนี้ให้ตรงเวลา

25. เผื่อใจสำหรับ "การต่อต้าน" คุณอาจมีความรู้สึกขัดแย้งในตัวเองหรือจากคนรอบข้างก็ได้ คุณควรเดินหน้าต่อไปท่ามกลาง กระแสต่อต้าน โดยที่คุณเองก็ยอมรับและยังคงทำในสิ่งที่จำเป็นต่อไป

26. ตอบคำถาม "แล้วถ้าหาก..." เช่น "แล้วถ้าหากว่ามันไม่ได้ผลล่ะ?" "แล้วถ้าหากฉันไม่ได้เงินเลยล่ะ?" ให้คุณจดบันทึกเหตุการณ์สมมติเหล่านี้ไว้ และตอบคำถามให้ได้ เช่น การตอบคำถามที่ว่า "แล้วถ้าหากฉันไม่ได้เงินเลยล่ะ? "คุณอาจตอบว่า"ฉันก็จะหางานพิเศษทำควบคู่ไปกับธุรกิจนี้"

27. หมั่นอดทน ครั้งต่อไปถ้าคุณติดไฟแดงหรือกำลังต่อคิวอยู่ ให้ลองฝึกความอดทนเอาไว้ เพราะการฝึกความอดทน เป็นลักษณะสำคัญของผู้ประกอบการ

28. เอาชนะอาการ "ยังดีไม่พอ" มีลูกค้าหลายรายที่ต้องพับกระดานหรือล้มเลิกโครงการไปเพราะพวกเขาคิดว่าไม่มีทักษะการขายที่ดี ไม่มีโบรชัวร์ที่ดี หรือไม่มีสินค้าที่ดีพอ ครั้งต่อไปหากคุณรู้สึกอยากจะล้มเลิก ลองหาทนทางที่จะทำให้คุณยอมรับมันให้ได้ และระลึกไว้ว่าคุณรู้มากพอที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้

29. ขอความช่วยเหลือ เมื่อคุณรู้สึกท้าทายและไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใครเลย เมื่อนั้นให้คุณขอความช่วยเหลือ เพราะนั่นคือเวลาที่คุณต้องการมันมากที่สุด

30. เชื่อในสัญชาตญาณของคุณเอง คนอื่นๆ อาจจะบอกว่าคุณเพี้ยนที่ออกจากงานดีๆ มาทำธุรกิจ แต่ไม่มีใครรู้ดีเท่าตัวคุณเอง ดังนั้นจงเชื่อมั่นในสิ่งที่คุณรู้ และลงมือทำ

31. ปฏิบัติต่อตนเองด้วยความเอาใจใส่ เข้าถึงความต้องการทางจิตใจ ร่างกาย และอารมณ์ของคุณด้วยความสมดุล การดูแลตนเองจะทำให้คุณมีพลังในการสร้างสรรค์และสามารถทำงานต่างๆ ได้โดยใช้เวลาน้อยลง


จาก Entrepreneur magazine - April 2005 By Suzanne Mulvehill แปลและเรียบเรียงโดย กมลวรรณ มักการุณ

จิตวิทยาสำหรับผู้บังคับบัญชา

จิตวิทยาสำหรับผู้บังคับบัญชา
    ผู้บังคับบัญชาเป็นบุคคลที่สำคัญยิ่งในองค์การ เพราะมีหน้าที่ทั้งบริหารคนและบริหารงาน พร้อมๆกัน ผลงานของเขา จะมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเขารู้จักองค์การของเขา ดีเพียงใด ถ้าเขามุ่งงานเพียงประการเดียว ไม่ให้ความสำคัญกับคนในองค์การ จะบังเกิดผลเสียหาย ทั้งต่อตนเอง เนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมงาน และต่อองค์การ จะมีผลงานที่ด้อยคุณภาพหรือ ผลผลิตตกต่ำ เป็นต้น ผู้บังคับบัญชายุคใหม่ จะเป็นผู้บริหารที่รอบรู้เรื่อง "คน" และเอาใจใส่ ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยใช้วิจารณญาณ ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของคนตามหลักจิตวิทยาในด้านความคิด ความต้องการ ตลอดจนการแสดงออกด้วย กิริยาท่าทางและการพูดจา สังเกตพฤติกรรมทั้งในส่วนบุคคลและพฤติกรรมของกลุ่ม ว่าพฤติกรรมเหล่านั้น มีเหตุผลใดมาเกี่ยวข้อง หรือมีปัญหามาจากเรื่องใด เมื่อวิเคราะห์เหตุและผลแห่งปัญหานั้นได้ถูกต้องชัดเจน ผู้บริหารจะต้องคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม
ใช้อุปสรรคและปัญหานั้นเป็นโอกาสในการพัฒนาคน พัฒนางานและพัฒนาตนเองได้อีกด้วย
สิ่งที่ผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับคน ได้แก่
๑. ทฤษฎีปฏิกิริยาสัมพันธ์
๒. ทฤษฎีความต้องการของบุคคล
๓. แรงจูงใจในการทำงาน
๔. ทัศนคติและความพอใจในงาน
๕. ขวัญและการบำรุงขวัญ
๖. กระบวนการกลุ่ม
๗. การสร้างทีมงาน
๘. 4Q (IQ EQ AQ MQ) กับการพัฒนาความเป็นผู้นำ
ทฤษฎีปฏิกิริยาสัมพันธ์
ดร.ไวท์ เป็นผู้สร้างทฤษฎีปฏิกิริยาสัมพันธ์ หรือที่นิยมเรียกว่า "การบริหารปฏิกิริยาสัมพันธ์" (Interaction Management) ซึ่งกล่าวถึง พฤติกรรมการแสดงออกของบุคคล ที่สามารถสังเกตได้ ๓ ทาง คือ

(๑) การแสดงออกทางร่างกายด้วยท่าทาง (Physical) หรือภาษาท่าทาง (Gesture Language)
(๒) การแสดงออกโดยการพูด (Verbal)
(๓) การแสดงออกทางอารมณ์ (Emotional)
    แนวคิดการบริหารปฏิกิริยาสัมพันธ์ มุ่งวิเคราะห์พฤติกรรม ๓ ด้าน คือ กาย วาจา และใจ (ซึ่งตรงกับแนวคิดตามหลักศาสนาพุทธ) ในลักษณะเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน เช่น เมื่อเรารู้สึกสบายใจ เราจะพูดจาด้วยคำพูดที่น่าฟัง ท่าทางการแสดงออก จะดูสดชื่น กระตือรือร้น ยิ้มแย้ม แต่ถ้ามีคนทำให้เราโกรธ เราจะพูดถ้อยคำที่รุนแรง สีหน้าท่าทาง แววตาจะบอกชัดว่ากำลังโกรธ ในกรณีที่คนโกรธนี้ มีข้อสังเกตว่า คนแต่ละคนจะแสดงออกไม่เหมือนกันก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่นๆ ได้แก่ อุปนิสัย ของแต่ละคน ประสบการณ์เดิม การเรียนรู้ และ ขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นต้น ตัวแปรเหล่านี้มีผล ให้พฤติกรรมบางอย่างถูกเก็บกดเอาไว้ จากที่ได้กล่าวไปจะเห็นได้ว่า ความคิดจิตใจ และอารมณ์ เป็นตัวกำหนด การแสดงออกด้านร่างกาย ด้วยท่าทาง และคำพูด และในทางกลับกัน ด้านร่างกาย ก็เป็นตัวกำหนดการแสดงออกด้านจิตใจได้เช่นกัน เช่น คนที่สุขภาพไม่ดี ร่างกายอ่อนแอ หรือมีโรคประจำตัว เขาจะมีสภาพจิตใจอ่อนล้า ท้อแท้ ไม่มีพลังใจ สามารถสังเกตท่าทางได้แม้ว่าเขาจะไม่ได้พูดบอกเราก็ตาม เช่น ท่าทางอิดโรย สีหน้าและแววตาหม่นหมอง สรุปว่า ทฤษฎีปฏิกิริยาสัมพันธ์นี้ ช่วยในการวิเคราะห์ การแสดงออกของบุคคลในเบื้องต้นได้ว่า กิริยา ท่าทาง คำพูด และอารมณ์ ทั้งหมดนี้บ่งบอกถึงปัญหาบางประการที่อยู่ในความคิดและจิตใจของเขานั่นเอง
ทฤษฎีความต้องการของบุคคล
การศึกษาถึงความต้องการของบุคคล มีแนวคิดที่คล้ายคลึงกันของนักจิตวิทยาหลายคน เช่น มาสโลว์ (A.H. Maslow) แอลเดอเฟอร์ (Alderfer) เมอร์เรย์ (Murray) และ แมคคลีแลนด์(McCleland) กล่าวถึง การเรียนรู้ลักษณะความต้องการของบุคคลซึ่งเป็นลักษณะความต้องการตามธรรมชาติของคนโดยทั่วไป
การพิจารณาระดับความต้องการนี้จะมีส่วนช่วยอย่างมาก ในอันที่จะสร้างแรงจูงใจอย่างมีประสิทธิภาพ จากการเรียนรู้ความต้องการของบุคคล และส่งเสริมให้เขามีโอกาสทำงานตามที่เขาปรารถนาจนประสบความสำเร็จ (อ่านรายละเอียด”แรงจูงใจ”ในหัวข้อที่ ๓)

๒.๑ ทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ (Maslow ‘s Hierarchy of Needs) ในปี ค.ศ. 1954มาสโลว์ ได้ตั้งสมมุติฐาน เกี่ยวกับความต้องการ ของบุคคลไว้ดังนี้


 
สมมุติฐานที่ ๑ บุคคลย่อมมีความต้องการอยู่เสมอและไม่สิ้นสุด ขณะที่ความต้องการใด ได้รับการตอบสนองแล้ว ความต้องการอย่างอื่นก็จะเกิดขึ้นอีก ไม่มีวันจบสิ้น
สมมุติฐานที่ ๒ ความต้องการที่ได้รับการตอบสนองแล้วจะไม่เป็นสิ่งจูงใจของพฤติกรรมอื่น ๆ ต่อไป ความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง จะเป็นสิ่งจูงใจในพฤติกรรมของคนนั้น
สมมุติฐานที่ ๓ ความต้องการของบุคคล จะเรียงเป็นลำดับขั้นตอนความสำคัญ เมื่อความต้องการระดับต่ำได้รับการตอบสนองแล้ว บุคคลก็จะให้ความสนใจกับความต้องการระดับสูงต่อไป

ความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ มีดังนี้

(๑) ความต้องการทางกายภาพ (Physiological needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของ สิ่งมีชีวิตได้แก่ ความต้องการอาหาร น้ำ อากาศ ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า และความต้องการทางเพศเป็นต้น
(๒) ความต้องการความปลอดภัย (Safety needs) เป็นความต้องการแสวงหาความปลอดภัยทั้งปวง เช่น ต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และต้องการความคุ้มครองจากผู้อื่น
(๓) ความต้องการความรักและการมีส่วนเป็นเจ้าของ (Belongings and Love needs) ขั้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นความต้องการทางสังคม (Social needs) ความรู้สึกว่าตนได้รับความรักและมีส่วนร่วม ในการเข้าหมู่พวกเพราะ “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” ไม่ชอบอยู่โดดเดี่ยว ต้องการมีเพื่อนฝูง
(๔) ความต้องการได้รับการยกย่องนับถือ (Esteem needs) เป็นความต้องการให้ผู้อื่นยอมรับ (Recognition) การให้เกียรติ เห็นคุณค่าความสำคัญของตน ความต้องการมีชื่อเสียง และความรู้สึกเคารพตนเอง (Self esteem)
(๕) ความต้องการสัจจการแห่งตน* หรือ ความประจักษ์ในตน (Need for self actualization)
(*พฤติกรรมมนุษย์ในองค์กร หน่วยที่ 8-15 มสธ. การเรียนรู้,หน้า ๔๘๕) เป็นความต้องการสูงสุดในชีวิตของตน ที่ต้องการรู้จักตนเองว่ามี “ศักยภาพ” (Potential) สักแค่ไหน และต้องการเป็นบุคคลที่มีความสามารถอย่างแท้จริงในการใช้ความรู้ นั้นให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติ
๒.๒ ทฤษฎีความต้องการของแอลเดอร์เฟอร์ (Alderfer’s Modified Need Hierarchy Theory) แอลเดอร์เฟอร์ (Alderfer 1972) ได้คิดทฤษฎีความต้องการที่เรียกว่าทฤษฎีอีอาร์จี (ERG: Existence – Relatedness – Growth Theory) โดยแบ่งความต้องการของบุคคลเป็น ๓ ประการคือ

(๑) ความต้องการมีชีวิตอยู่ (Existence Needs) เป็นความต้องการที่ตอบสนองเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไป ได้แก่ ความต้องการทางกาย และความต้องการความปลอดภัย
(๒) ความต้องการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น (Relatedness Needs) เป็นความต้องการของบุคคล ที่จะมีมิตรสัมพันธกับบุคคลรอบข้างอย่างมีความหมาย
(๓) ความต้องการเจริญก้าวหน้า (Growth Needs) เป็นความต้องการสูงสุด รวมถึง ความต้องการได้รับความยกย่อง และความสำเร็จในชีวิต
๒.๓ ทฤษฎีความต้องการของเมอร์เรย์ (Murray ’s Manifest Needs Theory)
เมอร์เรย์ (Murray 1938) ได้อธิบายว่า ความต้องการของบุคคลมีความต้องการหลายอย่างในเวลาเดียวกันได้ความต้องการของบุคคลที่เป็นความสำคัญเกี่ยวกับการทำงานมีอยู่ ๔ ประการคือ
(๑) ความต้องการความสำเร็จ หมายถึง ความต้องการที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
(๒) ความต้องการมีมิตรสัมพันธ์ ความต้องการมีความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลอื่น โดยคำนึงถึงการยอมรับของเพื่อนร่วมงาน
(๓) ความต้องการอิสระ เป็นความต้องการที่จะเป็นตัวของตัวเอง
(๔) ความต้องการมีอำนาจ ความต้องการที่จะอิทธิพลเหนือคนอื่น และต้องการที่จะควบคุมคนอื่นให้อยู่ในอำนาจของตน
๒.๔ ทฤษฎีความต้องการสำเร็จของแมคคลีแลนด์ (McCleland’s Achievement Motivation Theory)
แมคคลีแลนด์ (McCleland 1965) ได้เน้นความต้องการไว้ ๓ ประการคือ
(๑) ความต้องการประสบความสำเร็จ (Need for Achievement) เป็นความต้องการมีผลงานและบรรลุเป้าหมายที่พึงปรารถนา
(๒) ความต้องการมิตรสัมพันธ์ (Need For Affiliation) เป็นความต้องการมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น
(๓) ความต้องการอำนาจ (Need for Power) เป็นความต้องการมีอิทธิพลและครอบงำเหนือผู้อื่น


 
จากแนวความคิดของนักจิตวิทยาที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าความต้องการของบุคคลเกิดจากการขาดสิ่งใด สิ่งหนึ่งของบุคคลนั้น หรือเป็นความต้องการ ที่จะมีสิ่งนั้น เพิ่มขึ้นแม้ว่าไม่ได้ขาดแคลนก็ตาม ซึ่งอาจจะกล่าว โดยรวมได้ว่า ความต้องการเป็นการกระทำเพื่อปรับให้เกิดความสมดุลทั้งทางร่างกาย และสภาพแวดล้อมภายนอก ความพยายามนี้เองเป็นแรงจูงใจหรือแรงขับ (Drive) ส่วนความสมดุล เปรียบเสมือนความสำเร็จ ตามที่บุคคลต้องการอยากได้ บุคคลทุกคนต้องการหลายสิ่งหลายอย่าง และมีความต้องการหลายระดับ
ความต้องการของบุคคลแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม ดังนี้
๑. ความต้องการทางกายภาพ (Physiological Needs) เป็นแรงผลักดันที่เกิดขึ้น พร้อมกับความต้องการมีชีวิต การดำรงชีวิต วุฒิภาวะ ไม่จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์การเรียนรู้แต่อย่างไร เกิดขึ้น เนื่องจากความต้องการทางร่างกายเป็นสำคัญ เป็นแรงขับเบื้องต้นที่ร่างกายถูกกระตุ้น ทำให้เกิดความว่องไว กระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวาที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้า เกิดขึ้นจากสภาวะทางอารมณ์ สิ่งกระตุ้นทั้งจากภายในและภายนอก จะมีอิทธิพลต่อแรงจูงใจดังนี้

๑.๑ ความหิว คนเราต้องมีอาหารเข้าสู่ร่างกายเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต อาหารเป็นสิ่งจำเป็น ความต้องการอาหารเกิดขึ้น เนื่องจากอาหารในเลือดลดลง กระเพาะอาหารบีบตัว สร้างสิ่งเร้าภายในเป็นสภาวะของแรงขับ
๑.๒ ความกระหาย เมื่อร่างกายของคนเราขาดน้ำ ทำให้เรารู้สึกลำคอและปากแห้งผาก เกิดความต้องการที่จะได้น้ำมาดื่ม เพื่อรักษาความสมดุลของร่างกาย ร่างกายของคนเรามักจะสูญเสียน้ำ เนื่องจากอากาศร้อนอบอ้าว การออกกำลังกาย การทำงานหนัก ทำให้เหงื่อออกร่างกายขับน้ำเป็นปัสสาวะ
ทำให้ต้องการน้ำไปเพิ่มเติมเสมอ
๑.๓ ความต้องการทางเพศ ความต้องการด้านนี้จะเริ่มขึ้นเมื่อคนเราย่างเข้าสู่วัยรุ่น และเป็นผู้ใหญ่ อาจจะลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้นตามลำดับ การแสดงออกถึงความต้องการทางเพศ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความพึงพอใจ รสนิยม ขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมนั้น
๑.๔ อุณหภูมิเหมาะสม สิ่งมีชีวิตจะดำรงชีวิตอยู่ได้ ก็ต้องอาศัยความสมดุลทางด้านร่างกาย อุณหภูมิในร่างกายไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป อุณหภูมิภายนอกก็เช่นกัน ไม่ต่ำหรือสูงเกินกว่าปกติที่ร่างกายจะทนได้ เมื่อเกิดความหนาวจัดก็จะเกิดแรงขับ เพื่อเสาะแสวงหาสิ่งอื่น มาทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น ตามต้องการเช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัย ๔
๑.๕ การหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด แรงขับชนิดนี้เกิดจากความต้องการหลีกหนีความเจ็บปวด เพื่อให้ร่างกายเกิดความปลอดภัย ความเจ็บไข้ของร่างกาย ทำให้ร่างกายพยายามสร้างภูมิคุ้มกัน จนสามารถต้านทานโรค และเมื่อมีบุคคลอื่น ๆ จะทำร้ายเรา เราก็จะพยายามหลีกหนีหรือหลบไป เป็นต้น
๑.๖ ความต้องการพักผ่อนนอนหลับ เมื่อร่างกายเกิดความเหน็ดเหนื่อย เนื่องจากการใช้พลังงานออกแรงในการทำงาน เกิดความเหนื่อยล้า เกิดความอ่อนเพลียของร่างกาย เราต้องการนอนหลับพักผ่อน เพื่อจะผ่อนคลายให้ร่างกายได้มีโอกาสสะสมพลังงานใหม่และ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
๑.๗ ความต้องการอากาศบริสุทธิ์ มีก๊าซอ๊อกซิเจน สำหรับการหายใจ
๑.๘ ความต้องการการขับถ่าย เป็นการขับของเสียออกจากร่างกาย เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกับอาหารและน้ำ เพราะของเสียเหล่านี้จะเป็นพิษต่อร่างกาย ทำให้เราอึดอัดไม่สบาย บางครั้ง ถ้าตกค้างในร่างกายนานๆ อาจทำลายชีวิตได้
๒. ความต้องการทางจิตใจและสังคม (Psychological and Social Needs) การจูงใจประเภทนี้ ค่อนข้างจะสลับซับซ้อน เกิดขึ้นจากสภาพสังคม วัฒนธรรม การเรียนรู้และประสบการณ์ที่บุคคลนั้นได้รับและเป็นสมาชิกอยู่ แยกออกได้ดังนี้
๒.๑ ความต้องการที่เกิดจากสังคม ซึ่งเป็นมรดกตกทอด ทางวัฒนธรรม การอบรมเลี้ยงดูและ กลายมาเป็นลักษณะนิสัยประจำตัวของแต่ละคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม คนที่มาจากภูมิภาคเดียวกันมักจะพอใจรวมกลุ่มกัน เช่น ชมรมชาวเหนือ ชมรมชาวอีสาน เป็นต้น
๒.๒ ความต้องการทางสังคมที่เกิดจากการเรียนรู้ เราต้องมีประสบการณ์และการเรียนรู้มาก่อน จึงจะเข้าใจและเลือกปฏิบัติได้ แนวคิดของบุคคลจะแตกต่างไปจากแนวคิดที่รับมาจากครอบครัวเดิม เช่นคนที่เป็นลูกของเกษตรกรถูกอบรมเลี้ยงดูให้ใช้ชีวิตเรียบง่าย แต่เมื่อมีโอกาสมาเรียนในเมืองใหญ่ เขาพบว่าชีวิต ในเมืองสุขสบายกว่ามากจึงไม่อยากกลับไปอยู่ในชนบทอีก และต้องการมีส่วนร่วมในกลุ่มสังคมใหม่

#Thaibusiness 
ขอขอบคุณข้อมูล:
https://www.novabizz.com/NovaAce/Manage/Interaction-Theory.htm


คู่มือการฝึกทักษะการให้คำปรึกษา


• การมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นเป็นสิ่งจำเป็นในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ พัฒนาการทางสังคมและความคิดความเข้าใจของบุคคล พัฒนาขึ้นจากการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น เอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ความสำเร็จในอาชีพ การค้นพบความหมายของชีวิตและสุขภาพจิต ล้วนได้รับผลกระทบจากสัมพันธภาพระหว่างบุคคล

• มนุษย์แต่ละคนถูกหล่อหลอมจากประสบการณ์ให้มีความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยม ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเชื่อม ความสัมพันธ์ระหว่างคน 2 คน จึงต้องอาศัยความเข้าใจถึงปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อสัมพันธภาพที่มีระหว่างกัน เพื่อบุคคลทั้งสองฝ่าย จะได้ประสบความสำเร็จในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

• คุณค่าของสัมพันธภาพระหว่างบุคคล
• บุคคลเรียนรู้จักตนเองได้จากการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น จากสัมพันธภาพนี้ บุคคลจะได้รู้จุดเด่น และจุดด้อยของตนเอง รู้และเข้าใจถึง ความแตกต่างระหว่างบุคคล รวมทั้งเรียนรู้ความเป็นจริงของโลก โดยสัมพันธภาพอันดีระหว่างบุคคล จะช่วยให้การเรียนรู้ เป็นไปโดยไม่บิดเบือน มีการยอมรับและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่เป็นจริง ดังนั้นสัมพันธภาพอันดีระหว่างบุคคล จึงเป็น กุญแจสำคัญที่จะนำบุคคลไปสู่ การพัฒนาเอกลักษณ์ของตนเอง การมีความรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายและมีคุณค่า และการมีสุขภาพจิตที่ดีและสามารถพัฒนาตนให้ไปถึงศักยภาพสูงสุดของตนได้ แต่บุคคลที่ไม่สามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นได้ จะรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว เกิดความรู้สึกว่าชีวิตไร้ความหมาย และนำไปสู่ความรู้สึกซึมเศร้า และท้อแท้ในชีวิต และการมีพฤติกรรม ที่เป็นปัญหาได้ เช่น พฤติกรรมแยกตัวจากสังคม การติดยาเสพติด เป็นต้น

• การสร้างและคงไว้ซึ่งสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นจะเกิดบรรลุผลได้ ต้องอาศัยคุณลักษณะที่สำคัญของบุคคล ในการยอมรับ และส่งเสริมซึ่งกันและกัน และนอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทักษะการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น อันได้แก่ การเปิดเผยตนเอง การไว้วางใจซึ่งกันและกัน และการสื่อสารความเข้าใจ

• คุณลักษณะสำคัญของบุคคลในการสร้างสัมพันธภาพ (Relationship or Rapport)

• ความสัมพันธ์ระหว่าง คน 2คน จะเป็นสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ต้องอาศัยคุณลักษณะภายในหรือทัศนคติของบุคคลที่สำคัญบางประการ ได้แก่

1.การยอมรับและให้เกียรติ หมายถึง การยอมรับลักษณะส่วนตัวหรือลักษณะเฉพาะของบุคคลตามที่เขาเป็น ให้เกียรติและเคารพ ในคุณค่าของบุคคล มีความเป็นมิตร และความอบอุ่นใจแก่ผู้อื่น
2. การเข้าใจสาระและความรู้สึก หมายถึง การเข้าใจในเนื้อหาสาระของสิ่งที่สื่อสารระหว่างกัน และเข้าใจใน ความรู้สึกของผู้อื่นเสมือนเรา เป็นตัวเขา ซึ่งในสัมพันธภาพที่ขาดความเข้าใจความรู้สึกซึ่งกันและกัน สัมพันธภาพนั้น ไม่สามารถดำเนินไป ถึงขั้นที่ลึกซึ้งได้
3. การจริงใจ หมายถึง การไม่เสแสร้งในการแสดงออกถึงความคิด ความรู้สึก และทัศนคติของตนเอง

• คุณลักษณะของบุคคล 3 ประการนี้ จะส่งผลต่อสัมพันธภาพระหว่างบุคคลได้มากน้อยเพียงใดนั้น ไม่ใช่เพียงแต่มีคุณลักษณะเช่นนี้ อยู่ภายในเท่านั้น สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความสามารถในการสื่อ หรือแสดงออกถึงคุณลักษณะเหล่านี้ออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ด้วย ซึ่งความสามารถในการแสดงออก หรือการสื่อสารให้ผู้อื่นทราบถึงคุณลักษณะสำคัญเหล่านี้ เรียกว่า ทักษะการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างบุคคล

• ทักษะการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นเป็นสิ่งจำเป็น

• สัมพันธภาพระหว่างบุคคลเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ บางคู่เกิดขึ้นเป็นแค่เพียงความรู้จัก บางคู่เป็นความสนิทสนม กลายเป็นเพื่อนรัก คู่รัก หรือคู่สมรส บางคู่สัมพันธภาพมีอันต้องสิ้นสุดลง ด้วยความเบื่อหน่ายหรือทุกข์ใจ ซึ่งสัมพันธภาพระหว่างบุคคล จะเริ่มต้นและดำเนิน ไปอย่างลึกซึ้ง หรือมีอันต้องสิ้นสุดลงนั้น ขึ้นกับทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างกัน

• การเริ่มต้นของสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน จนสัมพันธภาพนั้นได้พัฒนาต่อไปเป็นความแน่นแฟ้นลึกซึ้ง และรักษาให้สัมพันธภาพ อันดีนี้ยั่งยืนตลอดไป ไม่ใช่เรื่องง่าย หากแต่จะต้องอาศัยทักษะที่สำคัญหลายประการด้วยกัน ซึ่งทักษะแห่งการสร้าง สัมพันธภาพ ที่ดีต่อกันนี้ มิใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้เอง แต่จะต้องอาศัยการฝึกฝนหรือฝึกหัด ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ทักษะการสร้าง สัมพันธภาพระหว่างบุคคล เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับมนุษย์

• มิตรภาพจะก่อเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยเวลา ความพยายาม และทักษะการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

• การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น อาจเป็นไปได้ใน 3 รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ 1 เป็นรูปแบบที่ง่ายที่สุด คือ การรอคอยให้ผู้อื่นก้าวเข้ามาผูกมิตรด้วย

รูปแบบที่ 2 เป็นรูปแบบที่ยากขึ้น คือการขอให้ใครสักคนเป็นเพื่อนด้วย ซึ่งเรามักจะรู้สึกเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธ

รูปแบบที่ 3 เป็นรูปแบบในการสร้างสัมพันธภาพที่ดี ด้วยการให้มิตรภาพแก่ผู้อื่น ซึ่งความสัมพันธ์ของบุคคลในระยะยาว การสร้างสัมพันธภาพรูปแบบนี้ให้ผลที่แน่นอนที่สุด

• ดังที่ David W. Johnson (1997) กล่าวว่า
• ถ้าท่านต้องการเพื่อน จงเป็นเพื่อนของผู้อื่น
ถ้าท่านต้องการความห่วงใย จงให้ความห่วงใยแก่ผู้อื่นถ้าท่านต้องการคำปลอบโยน จงให้คำปลอบโยนแก่ผู้อื่น

• นอกจากนี้เมื่อโอกาสแห่งการสร้างมิตรภาพมาถึง สิ่งที่จะต้องมีอีกประการหนึ่ง คือ ทักษะที่ใช้ในการสร้างและคงไว้ซึ่งมิตรภาพที่ยั่งยืนต่อไป

• ทักษะในสร้างสัมพันธภาพ ที่จะกล่าวในที่นี้ ได้แก่ การเปิดเผยตนเองและไว้วางใจซึ่งกัน และการสื่อสารที่เข้าใจตรงกัน ซึ่งประกอบด้วย ทักษะการฟัง ทักษะการทวนเนื้อหา ทักษะการสะท้อนความรู้สึก และทักษะการถาม

• การเปิดเผยตนเอง (Self Disclosure)
• การเปิดเผยตนเอง หมายถึง การเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ถึงความรู้สึก หรือปฏิกริยาที่ตนเองมีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การเปิดเผยตนเอง ไม่ได้หมายถึง การบอกถึงประวัติหรือเรื่องราวในอดีตของตนเอง แต่เรื่องราวในอดีตก็อาจจะช่วย ให้บุคคลอื่นเข้าใจ สาเหตุหรือที่มาของความรู้สึกที่เรามีต่อเหตุการณ์นั้นๆ

• ประโยชน์ของการเปิดเผยตนเอง
การเปิดเผยตนเองมีผลดีต่อการสร้างและคงไว้ ซึ่งสัมพันธภาพระหว่างบุคคลหลายประการ คือ
1. ทำให้ผู้อื่นรู้จักเรามากขึ้น เพิ่มโอกาสที่ผู้อื่นจะชอบและเกิดความคุ้นเคยสนิทสนมมากขึ้น
2. ทำให้สามารถทำกิจกรรมที่เป็นเป้าหมายร่วมกัน สนใจร่วมกัน
3. เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของการรับรู้ของตนเองกับผู้อื่น
4. ช่วยในการจัดการกับความเครียดและความทุกข์
5. การเล่าหรือบอกความไม่สบายใจของตนเองกับผู้อื่น จะช่วยให้เจ้าตัวมองเห็นปัญหาของตนเองชัดขึ้นละนอกจากนี้ ความห่วงใย ปลอบโยน ช่วยหาทางออกของเพื่อนจะเป็นกำลังใจ ความอบอุ่นใจ ทำให้สัมพันธภาพของบุคคลทั้งสองเพิ่มความสนิมสนม และลึกซึ้งยิ่งขึ้น

●ความเหมาะสมของการเปิดเผยตนเอง
• การเปิดเผยตนเองมากเกินไปหรือน้อยเกินไป มีผลทำให้สูญเสียสัมพันธภาพไปได้เช่นกัน การเปิดเผยตนเองที่มีผล ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี และยั่งยืนนั้น ต้องมีความเหมาะสมของการเปิดเผย ในโอกาสดังนี้

1. เมื่อมีการเปิดเผยตนเองของซึ่งกันและกัน เมื่อบุคคลหนึ่งเปิดเผยตนเอง ก็มีความคาหวังว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะเปิดเผยตนเองด้วย แต่ถ้าการเปิดเผยตนเองเกิดขึ้นฝ่ายเดียว ก็ควรจำกัดการเปิดเผยตนเองไว้ในขอบเขตหนึ่งเท่านั้น

2. การเปิดเผยตนเองควรเป็นเกี่ยวข้องกับเรื่องราวระหว่างบุคคลที่เป็นปัจจุบัน

3. ผลของการเปิดเผยตนเองขึ้นกับบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งด้วย การเปิดเผยความรู้สึกของตนเองของฝ่ายหนึ่ง อาจกระทบกระเทือนอีกฝ่ายหนึ่งได้ ดังนั้นจึงควรพิจารณาทัศนคติในมุมมองของอีกฝ่ายหนึ่งที่มีต่อการเปิดเผยตนเองด้วย

4. การเปิดเผยตนเองควรเริ่มต้นจากระดับทั่วๆไปแล้วค่อยๆไปสู่การเปิดเผยตนเองในระดับที่ลึกหรือเป็นส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น อาจจะเริ่มต้นจากการพูดถึง งานอดิเรก กีฬาที่ชอบ เหตุการณ์ปัจจุบันที่สนใจ แล้วเมื่อมิตรภาพดำเนินไป มีความคุ้นเคยมากขึ้นแล้ว การเปิดเผยตนเองจะค่อยๆไปสู่เรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวกับความรู้สึกที่ลึกซึ้งมากขึ้น เช่น การเปิดเผยตนเองเกี่ยวกับความกลัว ความรัก ซึ่งการเปิดเผยในสิ่งเหล่านี้เมื่อสัมพันธภาพมีความใกล้ชิดกันแล้ว ก็จะยิ่งเพิ่มความลึกซึ้งในสัมพันธภาพยิ่งขึ้น

●ความไว้วางใจ (Trust) และความน่าไว้วางใจ (Trustworthy)
• ความไว้วางใจ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลให้งอกงาม วิกฤตการณ์สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในสัมพันธภาพ คือ ความไม่สามารถในการไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระดับความไว้วางใจเป็น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับ การกระทำของ บุคคลทั้งสองฝ่าย และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ทำลายได้ง่าย

• ในสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ความไว้วางใจซึ่งกันและกันมีระดับ ที่เหมาะสมตามโอกาสและสถานการณ์ การไม่ไว้วางใจเลย และไว้วางใจในทุกโอกาส เป็นการไว้วางใจที่ไม่เหมาะสมความไว้วางใจเกิดขึ้น เมื่อบุคคลเต็มใจที่จะเสี่ยงต่อผลที่จะเกิดขึ้น จากการเปิดเผยตนเองเกี่ยวกับ ความคิด ความรู้สึก ทัศนคติ และปฏิกิริยาที่เขามีต่อเหตุการณ์ต่างๆ

• ความน่าไว้วางใจ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อบุคคล ทำให้ผู้อื่นมั่นใจว่าเขาได้รับประโยชน์จากการเสี่ยงเปิดเผยตนเอง บุคคลที่จะได้รับความไว้วางใจ คือ บุคคลที่แสดงออกถึง การยอมรับ การช่วยเหลือสนับสนุน และให้ความร่วมมือกับผู้อื่น

• การแสดงออกถึงการยอมรับ จะช่วยให้อีกผู้อื่นลดความรู้สึกกลัวและความกังวลต่อความอ่อนแอของเขาเอง และทำให้กล้าเปิดเผยตนเองมากขึ้น

 การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในสัมพันธภาพระหว่างบุคคล
• ความไว้วางใจ เป็นสิ่งที่ก่อเกิดขึ้นจากลำดับขั้นตอนของการกระทำของทั้งสองฝ่าย ดังนี้
1.มื่อบุคคลหนึ่งเสี่ยงที่จะเปิดเผยความคิด ความรู้สึก และปฏิกริยาต่ออีกบุคคลหนึ่ง
2. อีกฝ่ายหนึ่งตอบสนองด้วยการยอมรับ การช่วยเหลือสนับสนุน และให้ความร่วมมือต่อผู้ที่เปิดเผย และมีการเปิดเผยตนเองตอบ(ซึ่งกันและกัน )

 การทำลายความไว้วางใจ
• ความไม่ไว้วางใจ เกิดขึ้นได้ง่าย เพียงแต่บุคคลรู้สึกว่าอีกฝ่ายหนึ่งหลอกลวงแม้แต่เพียงครั้งเดียว ความไว้วางใจต่อกัน ก็จะเปลี่ยนเป็น ความไม่ไว้วางใจ ซึ่งความรู้สึกไม่ไว้วางใจนี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะบุคคลจะเกิดการรับรู้ว่า การหลอกลวง อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

พฤติกรรมที่ทำให้ความรู้สึกไว้วางใจลดลง ได้แก่
1.การปฏิเสธ เยาะเย้ย เห็นเป็นเรื่องน่าขำ หรือตลก และไม่ให้เกียรติ เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งเปิดเผยตนเอง
2. การไม่เปิดเผยตนเองตอบ เมื่อฝ่ายหนึ่งเปิดเผยตนเอง การที่ฝ่ายหนึ่งเปิดเผยตนเองแต่อีกฝ่ายหนึ่งปิดตนเอง จะทำให้ฝ่ายที่เปิดเผยตนเองเกิดความไม่ไว้วางใจและรู้สึกว่าตนเองเปิดเผยมากเกินไปและไม่มั่นใจที่จะเปิดเผยต่อไป
3. การปฏิเสธที่จะเปิดเผยเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก ของตนเอง เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งแสดงการยอมรับ เต็มใจที่จะช่วยเหลือและร่วมมือ การตอบสนองการยอมรับ ความเต็มใจที่จะช่วยเหลือและร่วมมือของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยการปกปิดและระมัดระวังตัวที่จะเปิดเผย จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเชื่อถือและถูกปฏิเสธ

ความเหมาะสมของความไว้วางใจผู้อื่น
คำถามที่มักเกิดขึ้นในสัมพันธภาพ
ระหว่างบุคคลเสมอ คือ เราสามารถไว้วางใจทุกคนและในทุกสถานการณ์หรือไม่

• ความไว้วางใจในผู้อื่นเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมตามบุคคลและสถานการณ์ การไว้วางใจที่ไม่เหมาะสมอาจจะทำให้เกิดผลเสียขึ้นได้ แต่การไม่ไว้วางใจใครเลยก็เป็นความไม่เหมาะสมเช่นกัน

• การพิจารณาความเหมาะสมของความไว้วางใจ สามารถพิจารณาได้จาก การเปรียบเทียบความมั่นใจในการเสี่ยงระหว่างการได้รับประโยชน์หรือผลดีจากการไว้วางใจและผลเสียที่อาจเกิดขึ้น

ทักษะการสื่อสารความเข้าใจ
• ทักษะการสื่อสารความเข้าใจ หมายถึง ความสามารถในการแสดงออกที่สื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ถูกต้องชัดเจน ทำให้เกิดความเข้าใจ ต่อกัน และสานต่อเรื่องราวที่สื่อสารระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ได้แก่ ทักษะการฟัง การทวนเนื้อความ การสะท้อนความรู้สึก และการถามคำถาม ในขณะเดียวกันผู้รับสารจะรับสารได้ถูกต้องตรงกับที่ผู้ส่งสารเจตนาจะสื่อ ผู้รับสารก็จะต้องคำนึงถึ งปัจจัยบางประการด้วยเช่นกัน

• สิ่งที่ผู้รับสารควรพิจารณาในการรับสาร
1. มุมมองของผู้ส่งสาร
2. ความหมายของสารในมุมมองหรือเจตนาของผู้ส่งสาร

ทักษะการฟัง (Listening skill)
• การฟังเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างสัมพันะภาพระหว่างบุคคล การที่จะโต้ตอบกับคู่สนทนา หรือผู้ส่งสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงใดนั้น ต้องเริ่มจากการฟังที่มีประสิทธิภาพก่อน

• การฟังที่มีประสิทธิภาพ หมายถึง การฟังที่สามารถเข้าใจถึงสาระสำคัญที่ผู้ส่งสารสื่อออกมาได้

• สาระสำคัญที่ผู้ส่งสารสื่อออกมา สามารถสื่อได้ 2 ช่องทาง คือ
1. สื่อสารโดยการใช้วาจาหรือถ้อยคำ สารที่สื่อโดยผ่านถ้อยคำส่วนใหญ่จะเป็นสาระที่เป็นเนื้อหา ผู้ฟังจึงควรจับใจความของเนื้อหา ให้ได้ 5 ประเด็นหลัก คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร

2. สื่อสารโดยการผ่านทางน้ำเสียง สีหน้าและท่าทาง สารที่สื่อผ่านน้ำเสียง สีหน้าและท่าทางมักจะเป็น สารที่บ่งบอกถึงความรู้สึกของผู้ส่งสาร เช่น ความจริงจัง ความสนุกสนาน ดีใจ เสียใจ เป็นต้น

• การที่จะจับสาระสำคัญจากผู้ส่งสารให้ได้ถูกต้อง จะต้องอาศัยสารที่ได้จากการฟังเนื้อหา และสารที่ได้จากการสังเกตน้ำเสียง สีหน้า และท่าทางประกอบกัน เพื่อจะได้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของสารที่ผู้ส่งสารเจตนาจะสื่อ หรือหรือพยายามที่จะหลบซ่อน กลบเลื่อนด้วยการใช้ถ้อยคำที่ไม่ตรงกับใจ แต่มักปิดบังไม่ได้จากสีหน้าและท่าทาง

• ดังนั้นทักษะการฟังที่มีประสิทธิภาพ จึงต้องอาศัยการใส่ใจ และการสังเกตในขณะเดียวกัน
• การใส่ใจ (Attending)
• การใส่ใจ หมายถึง การแสดงถึงความสนใจ การให้ความสำคัญ และให้เกียรติต่อคู่สนทนาหรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน

อุปสรรคของการสื่อสารความเข้าใจ
• สิ่งที่เป็นอุปสรรคของการสื่อสารความเข้าใจ ที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน หรือเกิดความเข้าใจผิดต่อกันในการสื่อสารที่สำคัญ คือ การมีอคติหรือใช้ทัศนคติ ความเชื่อส่วนตัวเข้าไปตีความสาระสำคัญที่รับรู้จากการฟังหรือการเห็น เพราะอคติและทัศนคติส่วนตัว จะทำให้เกิดการเลือกรับรู้สารเพียงบางส่วน แทนที่จะรับรู้สารทั้งหมด แล้วตีความตามการรับรู้ที่เลือกแล้วของตน

• การเลือกรับรู้เป็นอุปสรรคของการฟังและการตอบสนอง
• ในการสื่อสารระหว่างบุคคลที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่นั้น มีความซับซ้อนของสารที่สื่อต่อกัน ทั้งที่เป็นสารที่สื่อในรูปของวาจาหรือการใช้ท่าทาง ผู้รับสารจึงมักเลือกรับรู้สารเพียงบางส่วน ของสารทั้งหมดที่ผู้ส่งสารสื่ออกมา ซึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกรับรู้ของบุคคล ได้แก่ ความคาดหวัง ความต้องการ ทัศนคติ และความเชื่อของผู้รับสาร ทำให้เกิดการเห็นหรือการได้ยินเป็นไปตามสิ่งที่ผู้รับสารคิดหรือคาดหวัง แทนที่จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

• การแก้ไขเพื่อลดการเกิดการเลือกรับรู้ในการสื่อสาร สามารถทำได้โดยการเข้าใจมุมมองของผู้อื่นที่เกี่ยวข้องในการสื่อสารนั้นๆ

• การเข้าใจมุมมองของผู้อื่น
• ข่าวสารหรือข้อความการสื่อสารเดียวกันอาจจะถูกตีความและเข้าใจแตกต่างกันไปตามมุมมองของผู้รับสาร การเข้าใจผิดต่อกัน ในการสื่อสารจึงมักจะเกิดขึ้น จากการที่ผู้ส่งสารก็มักจะคิดว่า ทุกคนจะมีมุมมองและคิดเข้าใจเช่นเดียวกันกับตน ทั้งที่ในสภาพการณ์ที่เป็นจริงแล้ว สารที่บุคคลแต่ละคนรับไปจะถูกตีความและให้ความหมายแตกต่างกัน ไปตามมุมมองของบุคคลนั้นๆ

• ดังนั้นในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึง ผู้สื่อและผู้รับสามารถสื่อและรับสารตรงกันผู้สื่อสารและผู้รับสาร จะต้องคำนึงถึงปัจจัยบางประการ
 สิ่งที่ผู้สื่อจึงควรพิจารณาถึงในการส่งสาร
1.มุมมองของผู้รับสาร
2. ข้อมูลพื้นฐานหรือข้อมูลเก่า เกี่ยวกับสิ่งที่จะสื่อที่ผู้รับสารมีอยู่ก่อนแล้ว
3. สิ่งที่ผู้รับสารสนใจและต้องการทราบเกี่ยวกับเรื่องที่จะสื่อ

• บุคคลจะรับรู้ความใส่ใจของอีกฝ่ายหนึ่งได้ 2 ทาง คือ
1. ภาษาท่าทาง ได้แก่ การสบตา การพยักหน้า และการโน้มตัวเข้าหาผู้พูดในระยะห่างที่พอเหมาะ
2. ภาษาพูด ได้แก่ การตอบรับ (ค่ะ ครับ) การทวนเนื้อความ การสะท้อนความรู้สึก และการถามคำถาม

การทวนเนื้อความ (Restatement)
• การทวนเนื้อความ เป็นการพูดทบทวนในเนื้อหาที่เราฟังจากคู่สนทนา ซึ่งต้องอาศัยความรอบคอบในการพูดทวนเนื้อความให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการแสดงให้คู่สนทนารู้ว่า เราสนใจและเข้าใจในสิ่งที่คู่สนทนาพูด และยังเป็นการตรวจสอบความเข้าใจในสิ่งที่สนทนากัน ซึ่งหากมีการเข้าใจผิด การพูดทวนเนื้อความยังเป็นโอกาสของการอธิบายเพิ่มเติมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

• ตัวอย่าง: "เพื่อนๆ ชอบพูดล้อเล่นเรื่องรูปร่างของฉัน ฉันไม่ชอบเลยนะ ที่เอาเรื่องอ้วนๆ ของฉันมาเป็นเรื่องตลก"

• การทวนเนื้อความ: "เธอไม่ชอบที่เพื่อนเอาเรื่องรูปร่างของเธอมาล้อเล่น"

การสะท้อนความรู้สึก
• การสะท้อนความรู้สึก เป็นการจับความรู้สึกของคู่สนทนาจากการสนทนา ซึ่งอาจเข้าใจได้จากเนื้อหาที่สนทนา และการสังเกตสีหน้า กริยาท่าทาง และน้ำเสียงของคู่สนทนา

• การสะท้อนความรู้สึก เป็นการแสดงให้คู่สนทนารู้ว่า เราเข้าใจเขาในความรู้สึกของเขา ซึ่งเป็นความเข้าใจในระดับที่ลึกซึ้งกว่า เนื้อความที่เขาสนทนาโดยตรง

• ตัวอย่าง: "ถ้าเพียงแต่แม่บอกตรงๆ ว่า ไม่อยากให้ฉันซื้อของชิ้นนี้ตั้งแต่แรก ฉันก็คงไม่ต้องสู้อุตส่าห์เก็บเงินและตั้งความหวังไว้มากอย่างนี้"

• การสะท้อนความรู้สึก: "เธอผิดหวังมาก เมื่อแม่บอกไม่ให้ซื้อ"

การถามคำถาม
• การถามคำถาม เป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้คู่สนทนาได้บอกถึงเรื่องราว ความคิด และความรู้สึกต่างๆ

คำถาม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
• คำถามปิด เป็นคำถามที่ถามเพื่อให้ผู้ตอบเลือกตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ตอบว่าใช่ หรือ ไม่ใช่ ตอบว่า ถูก หรือ ผิด มีลักษณะเป็นการซักถามที่ได้คำตอบเพียงสั้นๆ
2. คำถามเปิด เป็นคำถามที่ไม่ได้กำหนดขอบเขตของการตอบ ผู้ตอบมีโอกาสพูดถึงความคิด ความรู้สึกและสิ่งต่างๆตามความต้องการของตน ซึ่งผู้พูดจะพูดได้เต็มที่และสะดวกใจ เช่นคำถามอะไร และอย่างไร

• ในการสนทนาที่เปิดโอกาสให้ผู้พูดได้เปิดเผยในสิ่งที่เต็มใจและต้องการจะเปิดเผย และไม่เปิดเผยในสิ่งที่ไม่พร้อมที่จะเปิดเผยนั้น การใช้คำถามเปิดจึงเหมาะสมกว่าการใช้คำถามปิด ซึ่งบางครั้งอาจจะทำให้ผู้ตอบรู้สึกเหมือนถูกซักไซ้ และบังคับให้ตอบ ในสิ่งที่ไม่อยากพูดถึงได้

• ตัวอย่าง: คำถามปิด- คุณคิดว่า สมพลเป็นคนไม่จริงใจใช่ไหม
คำถามเปิด- คุณคิดอย่างไรกับการกระทำของสมพล

สรุป
• การมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นเป็นสิ่งจำเป็นในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ พัฒนาทางการสังคมและความคิดความเข้าใจของบุคคล พัฒนาขึ้นจาก การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น เอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ความสำเร็จในอาชีพ การค้นพบความหมายของชีวิต สุขภาพทางกาย และ สุขภาพจิต ล้วนได้รับผลกระทบจากสัมพันธภาพระหว่างบุคคล บุคคลที่มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นจะรู้สึกว่าชีวิตมีค่า มีความหมาย และสามารถพัฒนาตนให้ไปถึงศักยภาพสูงสุดของตนได้ แต่บุคคลที่ไม่สามารถมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นได้ จะรู้สึกว่า ชีวิตอ้างว้างโดดเดี่ยว ไร้ความหมาย และนำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้ เช่น พฤติกรรมแยกตัวจากสังคม การติดยาเสพติด เป็นต้น

• การสร้างและคงไว้ซึ่งสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นจะเกิดบรรลุผลได้ ต้องอาศัยทักษะการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น ได้แก่ การเปิดเผยตนเอง การไว้วางใจซึ่งกันและกัน การสื่อสารความเข้าใจ การยอมรับและส่งเสริมซึ่งกันและกัน

• การเปิดเผบตนเอง และการไว้วางใจซี่งกัน
และกันที่เหมาะสม เป็นทักษะที่ทำให้การสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ได้เริ่มต้นขึ้นและ มีการดำเนินต่อไป การเปิดเผยตนเองและการไว้วางใจซึ่งกันและกันที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดผลเสียต่อสัมพันธภาพได้

• การสื่อสารความเข้าใจ เป็นทักษะการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจต่อกันของบุคคล ได้แก่ การฟัง การถาม การทวนเนื้อความ และการสะท้อนความรู้สึก

• ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล จะช่วยให้สัมพันธภาพได้มีโอกาสเริ่มต้นขึ้นและดำเนินต่อไป เป็น สัมพันธภาพ ที่แน่นแฟ้นลึกซึ้งยิ่งขึ้น และคงไว้ซึ่งสัมพันะภาพที่ดีต่อกันได้ ด้วยบรรยากาศของความเชื่อใจและไว้วางใจซึ่งกันและกัน และการสื่อสารความเข้าใจต่อกัน

#Asawinlhaosri ขอบคุณข้อมูล: คู่มือการฝึกทักษะให้การปรึกษา. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2538.
• Carkhuff, Robert r., et al. The Art of Helping. Second ed. Massachusetts :Human Resource 
Development Press, 1978.
• Dillon, J.T. The Practice of Questioning. London: Routledge,1990.
• Gamble, Teri Kwal and Gamble, Michael. Communication Work. Third ed.
New York: McGraw-Hill, Inc.,1990.
• Johnson, David W. Reaching Out : Interpersonal Effectiveness and Self-Actualization.
Sixth ed. Boston: Allyn and Bacon, 1997.
ผู้เขียน : ดร.เอมอร กฤษณะรังสรรค์

พฤติกรรมมนุษย์ (Human Behaviour)

พฤติกรรมมนุษย์ (Human Behaviour ) พฤติกรรม หมายถึง กิริยาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์หรือที่มนุษย์ได้แสดง หรือปฏิกิริยาที่เกิ...