อยากมีพ็อคเก็ต บุ๊คสักเล่มในชีวิต! พี่บก. ตัวพ่อในวงการขอบอก 7 เทคนิคง่ายๆ ทำได้จริง!
เราเชื่อว่าประโยคนี้เป็นคำถามในหัวสาวๆ หลายๆ คนกันอยู่ ก็แหม! ในชั่วข้ามคืน เห็นบางคนแค่เขียนไดอารี่ ยังดังกระฉูด ถึงกับออกพ็อคเก็ต บุ๊คได้ ยอมรับนะว่าสิ่งนี้คือฝันของเราลึกๆ อยากแจกลายเซ็นต์ใครบ้าง อยากแบบ สักครั้งในชีวิตขอเถอะ มีหนังสือในครอบครองอย่างใครเขาบ้าง
สาวๆ ในคลีโอเองก็ถกเรื่องนี้กันตลอดเวลา ยิ่งพวกเราทำงานสายแมกกาซีน ก็เลยย้ากอยาก อยากออกพ็อคเก็ต บุ๊คมาปะทะคนอื่นเขาบ้าง มันฟินแน่ๆ แต่ก็มีแอบไม่แน่ใจ และขี้เกียจอยู่เหมือนกัน เลยต้องขอถามผู้รู้ก่อน เหยื่อของเราคือ พี่ตุ๊ก วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม บรรณาธิการแห่ง A Day Bulletin ฟรี ก็อปปี้เล่มดัง ที่แตกลูกมาจากนิตยสาร A Day พี่ตุ๊กคือรุ่นพี่ที่เรายอมรับในฝีมือการเขียนของเธอ เธอเป็นบอกอมา 8 ปี ดังจัดกับบทบอกอที่เขียนกันแบบอาทิตย์ละ 2-4 หน้าแน่ะ และพออ่านแล้วโดนๆๆๆ เป็นที่เรียกร้องของแฟนๆ พี่ตุ๊กเลยต้องรวมเล่มบทบอกอ ออกมาเป็นพ็อคเก็ต บุ๊คชื่อ If you care enough, Everybody Hurts, Lonely Me Lonely You และหนังสือเรื่องม้า Love Me Love My Horse กับหนังสือแปลอีกหนึ่งเล่ม The Power of Half ผลงานมากมาย และพี่ตุ๊กยังอ่านหนังสือมาไม่ยั้ง สัมภาษณ์คนดังๆ มาอีกเพียบ เธอเลยเหมาะจะมาตอบคำถามนี้ของเรา “พี่ตุ๊กคะ หนูอยากมีพ็อคเก็ต บุ๊คของตัวเองสักเล่มน่ะค่ะ หนูต้องทำยังไงบ้างคะ?”
1. สำคัญเลยคือ “การสะสมเรื่องเล่าของตัวเอง” พี่ตุ๊กบอกว่า เราต้องมีของข้างในตัวเราก่อน แล้วมันพีคสุดๆ คือถ้าไม่เอาออกมา ยอมไม่ได้! จุดนี้ล่ะ จะทำให้เราต้องเขียนออกมา เรื่องยากคือเราต้องหาสำเนียงของเรา วิธีเล่าเรื่อง ทุกเรื่องเล่าจะมีชีวิตของมัน พี่ตุ๊กกระตุกเราต่อกับประโยคว่า “เราต้องหาวิธีเล่าเรื่อง ไม่ใช่หาวิธีทำพ็อคเก็ต บุ๊ค”
2. เรื่องเราควรค่าแก่การจะเล่ามั้ย เรื่องเล่านี้ไม่จำเป็นเลยว่า ต้องรอให้อายุมากกว่านี้ถึงมีอะไรเด็ดพอจะเล่า พี่ตุ๊กบอกว่า ในทุกช่วงชีวิต มีเรื่องเล่าที่ควรค่า เข้มข้น น่าสนใจได้หมด “บางทีคนเราเรื่องมันเข้มข้นพอ ไม่จำเป็นว่าต้องอายุ 30 40 หรอก เด็กบางคนเจอเรื่องเข้มข้นมากๆ ก็คือเค้าได้ตกตะกอนของเค้าแล้ว ก็แน่นพอที่จะถ่ายทอดออกมา” เรื่องตกตะกอนนี่เราถามพี่ตุ๊กต่อว่า แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราตกตะกอนแล้ว พี่ตุ๊กบอกว่า “ตกตะกอนคือ เมื่อไปเจออะไรมา แล้วมันเปลี่ยนข้างในของเราไปเลย เปลี่ยนวิธีมองโลกไปเลย” ตอนที่พีคก็คือว่า “เพียงแต่ว่าคุณต้องรอให้ความรู้สึกนั้นทำงานของมัน ไม่ว่าจะไปเจออะไรมา ต้องรอจนถึงความรู้สึกว่า อยากเล่ามาก เพราะมันเปลี่ยนโลกของเราไปจริงๆ”
3. ก่อนจะเขียนให้คิดให้ดีว่า “สิ่งที่เราจะเขียนออกมา อาจไม่ใช่การโชว์ความพร้อมของการเป็นนักเขียน แต่อาจคือการโชว์ความไม่พร้อมของการเป็นนักเขียนด้วย” ความน่ากลัวถ้าเราดั๊นได้ออกพ็อคเก็ต บุ๊คตอนที่ของยังไม่พีคล่ะก็
หลังจากนั้นกลับมาอ่านงานตัวเอง อาจมีความอายเกิดขึ้นได้ และคำอุทานในใจหนักมาก “เอ๊ยยย ฉันเคยเขียนอะไรอย่างนี้ด้วยเหรอ ช่วยด้วยยยยย”
4. สำนักพิมพ์ก็สำคัญเลย ก่อนตัดสินใจพิมพ์อะไร ควรดูงานของสำนักพิมพ์นั้นก่อน พี่ตุ๊กแนะนำว่า “ลองเอาหนังสือของสำนักพิมพ์นั้นไปอ่านหลายๆ เล่ม แล้วดูสิ่งที่เรามี และอยากจะปล่อยออกมา ถามตัวเองว่า ไหวมั้ย?” เพราะแบบอาจคนละทางกันเลย หรือกลายเป็นติ่งให้งงเล่นอะไรแบบนี้
5. บอกอของเล่มก็ควรต้องคิดให้ดี ไม่ใช่ว่าใครมาชวน มาบอกเรา “พี่เป็นบอกอให้” เราจะดีใจอกทะลัก แล้วโอเคทันที เพราะบอกอที่ดี เขาต้องช่วยพัฒนานักเขียนด้วย “คือถ้าเขาสักแต่ว่าจะออกหนังสือให้ เต่ไม่พัฒนาตัวคุณ ก็เหมือนแค่รวมเล่มให้เฉยๆ” พี่ตุ๊กขยายเรื่องนี้ให้เราฟังว่า บอกอคือต้องเห็นอะไรในตัวเรา ที่เราเองอาจไม่เห็น ไม่ใช่แค่รับจ้างรวมเล่มแล้วจบ
6. วินัยในการเขียนต้องมาคู่กับของที่มีเลย อันนี้คือจุดชี้ขาดของความเป็นนักเขียนมืออาชีพกัน พี่ตุ๊กให้เราดูตัวอย่างมืออาชีพที่ออกงานเขียนมาไม่ยั้งอย่าง มูราคามิ ชีวิตจริงเขามีวินัยในทุกอย่าง เช่น ต้องวิ่งวันละสิบโล วันหนึ่งต้องเขียนให้ได้กี่หน้า แล้วเมื่อเขียนถึงจุดพีค ต้องหยุดเขียน นี่คือวิธีของนักเขียนเขา
7. เขียนเสร็จก็ต้องอีดิท คืออย่าเซลฟ์ไปแบบฉันมั่นมากว่าชัวร์ เราควรตรวจงานเราให้ละเอียด เพราะพี่ตุ๊กบอกว่า “พอหนังสือพิมพ์ไปแล้ว มันมีชีวิตของมันเองแล้วนะ ถ้าเกิดได้พิมพ์อีก แล้วจะมาแก้ไขอะไร จะงงมาก เพราะทุกอย่างมันมีโลกของมันไปแล้ว”
เป็นไง? พอไหวมั้ย? คือถ้าคันมากแบบทะลักไส้แตก อยากเขียนสุดๆ พี่ตุ๊กแนะอีกว่า “อารมณ์แบบนี้เกิดนี่ ให้นิ่งไปเลย นิ่งสุดๆ ไปสักพัก แล้วค่อยกลับมาดูตัวเองอีกทีว่า เรายังอยากเขียนอยู่มั้ย ถ้ามันผ่านแล้วเฉยๆ ลง ก็แสดงว่ายังไม่ใช่” และถ้ายังไงซะก็ยังเป็นฝันของเราอยู่ เอาล่ะ! สิ่งแรกที่คุณควรทำตอนนี้คือ “ไปใช้ชีวิต เติมมิติของชีวิตให้หลากหลายขึ้น ว่ามีเรื่องกระทบใจมากพอ ที่เปลี่ยนเรา และเปลี่ยนคนอื่นมั้ย อย่าแค่บอกตัวเองว่า อยากทำ อยากมี แต่ไม่เคยถามตัวเองว่า แล้วควรค่าพอจะทำหรือ อยากทำหนังสือที่ดี หรือสักแต่ว่าฉันมีก็โอเคแล้ว”
และสำหรับคนพร้อมทุกสิ่ง นาทีต่อไปที่คุณทำได้เลย พี่ตุ๊กแทบจะตะโกนบอกว่า
“เขียนทุกวัน เขียนบ่อยๆ เขียนในสิ่งที่เห็น!!! เขียนออกมาเลยยยยยย”
ที่มา : http://www.cleothailand.com/lifecoach/%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B8%95-%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B9%8A%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80.html